เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2497 ขณะตุปัดตุเป๋ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองไทยไปอิตาลีในมือของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินวัย 44 ปี มีเพียงจดหมายฉบับเดียวที่เขียนขึ้นโดย อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการเข้าศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตสถานที่กรุงโรม ข้อความในจดหมายสั้นๆนี้ไม่ได้มีอะไรวิลิศมาหรา เพียงระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ‘เฟื้อเป็นหนึ่งในศิลปินที่เก่งที่สุดในสยาม’ แค่นี้ก็พอที่จะทำให้สถาบันศิลปะอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงระดับโลกแห่งนี้ยอมรับ เฟื้อ ชายไทยผู้ซึ่งไม่มีวุฒิไม่มีปริญญาอะไรซักกะอย่างติดตัวมาเลยเข้าเรียนได้
ในบรรยากาศอันแปลกตาที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะ ผนวกกับความรู้ใหม่ๆที่ได้รับการถ่ายทอดมา เฟื้อระบายความประทับใจในเมืองมักกะโรนีลงบนผืนผ้าใบตามแบบฉบับของท่านด้วยฝีแปรงที่รวดเร็วฉุบฉับในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ เฟื้อใช้สีสดๆที่บีบออกจากหลอดปาดขวับลงไปเป็นปื้นๆให้สีต่างๆผสมกันเองในภาพ ท่านเลือกใช้สีอย่างอิสระไม่ยึดติดกับหลักธรรมชาติ แต่ใช้ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านออกมาจากความรู้สึกภายในล้วนๆ เราเลยได้เห็นภาพตึกสีแสด ทุ่งหญ้าสีชมพู ผู้หญิงสีฟ้า มะเลืองมะลัง อร้าอร่ามไม่เหมือนที่ตาเห็น นอกจากภาพวาดแนวอิมเพรสชั่นนิสม์แล้ว เฟื้อยังริเริ่มสร้างผลงานในสไตล์คิวบิสม์ที่เป็นเหลี่ยมเป็นสัน นับว่าท่านเป็นศิลปินไทยคนแรกๆที่นำเทคนิคศิลปะของตะวันตกเหล่านี้มาใช้จนเก่งกาจช่ำชอง
แรกเริ่มเดิมทีเฟื้อได้ทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้มาเรียนต่อแค่ปีเดียว แต่พอครูบาอาจารย์ที่โรมเห็นฝีมือของท่าน เลยมีมติมอบทุนให้อยู่ต่ออีกปี ช่วงเวลาที่กินนอนอยู่ที่นั่น เฟื้อขยันสรรค์สร้างผลงานศิลปะที่ท่านรักอย่างมีความสุขโดยไม่เหน็ดไม่เหนื่อย เงินทองที่มีอยู่ไม่มากก็ใช้ลงทุนไปกับอุปกรณ์วาดภาพที่ดีที่สุดก่อน ส่วนตัวก็ประทังชีวิตอยู่ด้วยการต้มแป้งแล้วเอามาคลุกเกลือกินให้พออิ่มไปวันๆ ไม่เคยแวะเวียนไปทานอาหารตามคาฟ่งคาเฟ่ให้เปลืองค่าสีค่าผ้าใบ อยู่อย่างนี้เฟื้อก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรเพราะจิตวิญญาณของท่านคืองานศิลปะ ไม่เหมือนพวกเราที่ไปอิตาลีแล้วถ้าไม่ได้กิน พิซซ่า พาสต้า เจลาโต้ แล้วจะลงแดงชักดิ้นชักงอ
เมื่อเฟื้อหอบผลงานที่สร้างสรรค์ไว้ในต่างแดนกลับมาแสดงที่เมืองไทย ท่านได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก เมื่อส่งภาพที่นำกลับมาจากอิตาลีเข้าประกวดประขันในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2500 เฟื้อก็ได้รับเหรียญทองมาประดับหิ้งแบบไม่ต้องลุ้น ด้วยฝีมือที่แก่กล้าล้ำหน้า ถ้าเฟื้อยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแบบสากลอย่างนี้ต่อไป โอกาสที่ท่านจะกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก อู้ฟู่ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จู่ๆเฟื้อก็กลับตัดสินใจหันหลังให้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสมัยใหม่ซะอย่างนั้น แล้วมามุ่งมั่นรักษาผลงานจิตรกรรมฝีมืิอช่างไทยโบราณโดยการระเห็ดระเหินไปทั่วประเทศนอนกลางดินกินกลางทรายปีนป่ายผนังวัดวาอารามที่ผุๆพังๆ เพื่อจะคัดลอกลายจิิตรกรรมโบราณที่ดูเผินๆก็แสนจะเยินๆไม่มีใครใส่ใจดูแล
พอเฟื้อตัดสินใจเอาดีทางด้านอนุรักษ์ อาจารย์ ศิลป์ ก็ถึงกับปวดขมับ ตำหนิเฟื้อต่างๆนาๆ เพราะเสียดายฝีมือ และโอกาส แต่พออาจารย์ศิลป์ได้ไปเห็นสิ่งที่เฟื้อทำเพื่อจะรักษามรดกทางศิลปะของชาติให้อยู่ยงคงกระพันยันลูกหลาน อาจารย์ศิลป์ เลยยอมใจ เปลี่ยนมาสนับสนุนให้เฟื้อตะกายกำแพงโบสถ์ต่อไป
ตลอดชีวิตที่เหลือเฟื้อทั้งคัดลอก ทั้งอนุรักษ์ ผลงานจิตรกรรมฝาผนังไปนับหมื่นๆแสนๆภาพจากทุกที่ทั่วไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ และที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเฟื้อยังเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกแก่ลูกศิษย์ลูกหานับหน้าไม่ถ้วนให้ตระหนักถึงผลงานจิตกรรมชั้นครูที่สุดแสนจะวิจิตรพิศดาร แต่มักจะถูกมองข้ามเพราะมัวแต่แห่กันไปเห่อของใหม่
มีนักสะสมศิลปะรุ่นเดอะหลายต่อหลายคนเคยบอกเราว่า ถ้าริจะสร้างคอลเล็คชั่นศิลปะสมัยใหม่ของไทยให้มีเรื่องราวสมบูรณ์ครบครัน เพชรยอดมงกุฎที่ขาดไปเสียไม่ได้ คือภาพวาดสีน้ำมันของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมืออันเฉียบขาด และมีหลงเหลืออยู่ไม่มาก เพราะท่านวาดอยู่ช่วงเดียวแล้วก็เลิก ทุกทีที่มีคนแนะนำมาอย่างนี้ ก็มักจะพูดกับตัวเองอยู่เสมอว่า ‘แล้วเราจะไปมีปัญญาหาได้ที่ไหน?’ เพราะเท่าที่รู้ๆมา มีนักสะสมทั่วสารทิศพยายามพลิกแผ่นดินหา ถ้าแข่งกับเขาเราคงไม่ไหว ชิ้นที่ทราบพิกัดว่าอยู่กับใครเจ้าของเขาก็หวงยิ่งกว่าไข่ในหิน ถ้าคิดจะขายก็ตั้งราคาบ้าเลือดเอาเป็นเอาตายกันไปข้าง แถมในตลาดยังมีของปลอมระบาดอีกต่างหาก รู้อย่างนี้แล้วเราเลยไม่ได้ดิ้นรนไขว่คว้าให้เดือดเนื้อร้อนใจ คิดแต่เพียงว่าของอะไรดวงจะเป็นของเราเดี๋ยวก็เป็นของเรา ปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมที่ทำไว้ดีกว่า
ความปรารถนาเริ่มจะเห็นเค้าลางเมื่อวันดีคืนดีเกิดคิดยังไงไม่รู้ไปพูดถึงเฟื้อเข้าหูญาติผู้ใหญ่ของเราท่านหนึ่งขณะทานข้าว ท่านเลยเฉลยว่าท่านมีเก็บไว้หลายชิ้น น่าแปลกที่เราเองก็ไม่ยักกะรู้มาก่อนทั้งๆที่มาบ้านท่านเป็นประจำทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้งสองครั้ง ระหว่างที่เคี้ยวข้าวกันหนุบหนับญาติของเราเลยสั่งให้คนยกภาพวาดจากหลืบลึกลับออกมาให้ชมกัน วันนั้นเราจึงได้ยลภาพวิวอิตาลีที่ฟุ้งไปด้วยไอหมอกในหน้าหนาว วาดด้วยสีน้ำมันแบบรวดเร็วฉับพลัน เห็นปั๊บก็รู้ทันทีว่าเป็นฝีมือเฟื้อล้านเปอร์เซ็นต์เพราะภาพพวกนี้เป็นภาพดัง ตามภาษาพระเครื่องเรียกองค์ดารา เพราะมีตีพิมพ์อยู่ในสูจิบัตรเก่าๆของเฟื้อหลายเล่ม ภาพจริงๆที่อยู่ตรงหน้าช่างงดงามกว่าภาพถ่ายมืดๆที่เราเคยเห็นเป็นไหนๆ พาเราให้หลุดไปในดินแดนมักกะโรนีทีี่เย็นยะเยือกจับใจในเหมันต์ฤดูอยู่พักใหญ่
พอตั้งสติได้เลยไปจ้องดูใกล้ๆจนแทบจะเอาจมูกไปแนบ จะได้เห็นรายละเอียดทั้งด้านหน้า ด้านหลัง เอาไว้เป็นความรู้ สิ่งที่สะดุดตาเรามากที่สุดคือป้ายราคา 3,000 บาทที่แปะไว้บนกรอบไม้ด้านหลังภาพ แว๊บแรกเราคิดว่านี่คงเป็นราคาค่ากรอบเพราะเท่าที่เราทราบราคาภาพในปัจจุบันนั้นแพงกว่าตัวเลขที่เห็นเป็นพันๆเท่า เราจึงถามญาติผู้เป็นเจ้าของภาพด้วยความสงสัยว่าตัวเลขปริศนานี้คืออะไร ท่านเลยเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตอนที่ท่านเปิดกิจการหอศิลป์แห่งหนึ่งบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในชื่อ ‘หอขวัญ’ ครั้งหนึ่ง อวบ สาณะเสน ศิลปินชื่อดังได้แนะให้ เฟื้อ หริพิทักษ์ ผู้เป็นอาจารย์ มาจัดงานแสดงผลงานศิลปะ ณ สถานที่แห่งนี้ ในวันสุดท้ายของนิทรรศการมีภาพสีน้ำมันหลายภาพทีี่ยังขายไม่ได้ ญาติของเราจึงแสดงน้ำใจเหมาซื้อตามราคาที่ตั้งไว้เฉลี่ยภาพละไม่กี่พันบาท สรุปว่าไอ้เลข 3,000 ที่เห็นนั้นเลยเป็นราคาทั้งภาพทั้งกรอบเบ็ดเสร็จ พอได้ภาพสีน้ำมันของเฟื้อมามากมาย ญาติผู้ใหญ่ของเราก็ทยอยจัดแจงแจกให้ญาติสนิทมิตรสหายคนละชิ้นสองชิ้น เหลือเก็บไว้แขวนบ้านตัวเองนิดๆหน่อยๆโดยไม่เคยคิดเลยว่าภาพเหล่านี้จะกลายเป็นของมีราคาค่างวดมากมายเหมือนในปัจจุบัน
ญาติผู้ใจดีเห็นว่าเราสนใจเฟื้ออยู่แต่ถ้าวันนี้จะแจกฟรีก็ไม่น่าจะเหมาะ สู้แจกบ้านแจกรถยังจะถูกสตางค์กว่า ท่านเลยแนะให้ลองไปบุกบ้านเพื่อนของท่านที่เป็นนักสะสมศิลปะรุ่นใหญ่ดู เผื่อจะเจอเฟื้อซุกๆไว้ที่ไหนซักแห่ง ไม่กี่วันถัดมาเราเลยรีบโทรไปนัดก่อนจะเข้าไปหาที่บ้านย่านสุขุมวิท นักสะสมท่านนี้เป็นผู้ใหญ่ใจดี ต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง เล่าเรื่องสัพเพเหระให้เราฟังจนได้ความรู้เพิ่มเติมเยอะแยะ ท่านคลุกคลีอยู่ในวงการศิลปะมาก่อนที่ญาติของเราจะเริ่มสะสมเสียอีก แต่พอแก่ๆตัวก็เลยเริ่มจะเพลาๆมือลงไป ที่บ้านเลยมีแขวนไว้แต่ภาพวาดของศิลปินระดับมหาประลัยในอดีต ทำเอาเราถึงกับอึ้ง ทึ่ง ช็อก ชิ้นที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นอย่างเช่น พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของ จำรัส เกียรติก้อง, ภาพบึงบัวของ ทวี นันทขว้าง, ภาพนกอินทรีตีกันสีสันสวยงาม ถวัลย์ ดัชนี สมัยวัยรุ่น, รวมถึง ภาพวิวอินเดีย ของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่ละเลงเส้นซะเมามันส์ด้วยดินสอสีบนกระดาษ
เดินดูจนหนำใจแล้วเราจึงถามท่านเจ้าของบ้านว่า ‘คุณอาพอจะมีภาพวาดสีน้ำมันฝีมือเฟื้อเก็บไว้บ้างไหมครับ’ ท่านพยักหน้าแล้วพาเราไปดูภาพที่หมกไว้ในห้องเก็บของ ภาพที่ว่าเป็นภาพผู้หญิงฝรั่งแก้ผ้า ตัวสีฟ้า หัวนมสีแดง วาดด้วยสีน้ำมัน 2 ภาพ เห็นดังนั้นเราถึงกับไม่เชื่อสายตาตัวเองใจหายไปตกอยู่ที่ตาตุ่ม เพราะภาพนู้ดสีน้ำมันของเฟื้อนั้นหายากยิ่งกว่าภาพทิวทัศน์ที่นับว่าหายากอยู่แล้วหลายเท่าทวีคูณ ด้วยความงงๆเราจึงถามท่านไปว่าผลงานระดับนีี้ทำไมคุณอาไม่เอาไปแขวนโชว์ไว้ครับ ท่านตอบขวับว่าถ้าแขวนรูปสาวแก้ผ้าแขกไปใครมาเดี๋ยวเขาจะหาว่าท่านเป็นเฒ่าตัณหากลับ เราจึงได้ทีแถลงไขให้ทราบความในใจไปเลยว่า ถ้าคุณอาไม่หวง ผมขอยอมเป็นมนุษย์ตัณหากลับที่มีภาพพวกนี้แขวนไว้ที่บ้านละกันนะครับ ท่านก็พยักหน้าหงึกๆด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความเอ็นดู
หลังจากที่ได้ภาพผลงานชุดนั้นมา เราก็ส่งไปทำความสะอาด เคลือบสี และบรรจงดูแลรักษาเป็นอย่างดี มดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม เฟื้อท่านคงเห็นความตั้งใจของเราจากบนฟากฟ้าเลยดลบันดาลให้เราได้ผลงานของท่านที่เราไม่เคยนึกฝันว่าจะเจอมาอีกหลายชิ้น พอนานวันเข้าด้วยความระแวงบวกขี้สงสัยก็เลยเริ่มค้นคว้าตามหาที่มาเก็บไว้เป็นหลักฐานกันการโดนต้ม โดยดั้นด้นไปสอบถามเหล่าผู้รู้ในวงการศิลปะ และบรรดาลูกหลานญาติโกโหติกาของเฟื้อเอง จนได้ข้อมูล เอกสารยืนยัน และภาพถ่ายเก่าๆ มาเป็นกุรุส แทบจะรู้ไปหมดเลยว่าแต่ละภาพเฟื้อวาดใคร วาดอะไร วาดที่ไหน วาดเมื่อไหร่ เคยเก็บรักษาไว้ที่ใด ตกเป็นของใครอีกกี่ทอด
พอเรายิ่งศึกษาก็ยิ่งสนุก อีกทั้งยังได้ทำความรู้จักกับผู้คนมากมายที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คือยกย่องเชิดชู เฟื้อ หริพิทักษ์ อย่างสุดหัวใจ แถมช่วงนั้นทางหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ก็กำลังเข้ามาลุยซื้อผลงานของเฟื้อเพื่อนำไปจัดแสดงให้ชาวโลกเห็นอยู่พอดี ไหนๆกระแสก็กำลังมาเราเลยไม่รอช้าโทรปรึกษาทายาทของเฟื้อที่น่ารัก และนักสะสมที่สนิทสนมว่า น่าจะช่วยกันเผยแพร่ผลงานของเฟื้อด้วยการจัดทำหนังสือที่มีภาพสวยๆ ข้อมูลละเอียดๆ ขึ้นมาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษซักเล่ม หลังจากประชุมกันไปหลายครั้งตอนนี้หนังสือก็เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว และพอพิมพ์เสร็จโครงการถัดไปก็คือการจะช่วยกันผลักดันให้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของท่านแบบครบๆขึ้นมาอีกซักครั้ง จะได้เปิดโอกาสให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ดื่มด่ำในความสามารถของเฟื้อทั้งในรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ และในรูปแบบจิตรกรรมไทย และร่วมกันระลึกในความเป็นปูชนียบุคคลของท่าน ผู้ซึ่งมุ่งมั่นเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำงานศิลปะเพื่อศิลปะแท้ๆโดยไม่ได้คาดหวังเงินทองลาภยศ จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายที่อำลาจากโลกนี้ไป
ดังอุดมการณ์ที่ เฟื้อ หริพิทักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใสและจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริงในความงามอันเร้นลับอยู่ใต้สภาวะธรรม’ บอกตามตรงตอนที่ได้ยินประโยคอันจับใจนี้เป็นครั้งแรกรู้สึกซึ้งจัดจนน้ำตาไหลพราก วันนั้นก่อนออกจากบ้านเดินผ่านภาพหญิงสาวตัวสีฟ้านอนแก้ผ้า เลยแวะกราบงามๆพร้อมคราบน้ำตาและกระดาษทิชชู่เปียกๆ อีกเต็มมือ